พาชมบรรยากาศงาน Google Next '18

งาน Google Cloud Next เป็นงานประจำปีของ Google Cloud ซึ่งเป็นแผนกที่รับผิดชอบบริการและผลิตภัณฑ์ของ Google สำหรับลูกค้าองค์กร ปีนี้งานจัดขึ้นในวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2561 ที่เมืองซานฟรานซิสโก ซึ่งผมได้มีโอกาสไปร่วมงานนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทคับ

ในงาน จะแบ่งเนื้อหาออกเป็นหลายๆ ส่วน และหลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบ keynote session ที่เป็นเวทีใหญ่ในช่วงเช้าของแต่ละวัน, breakout session ที่แบ่งเป็นห้องขนาดกลางๆ (session ละประมาณ 50 นาที) , panel session ซึ่งเป็นเวทีเล็กๆ ผู้ฟังจะใกล้ชิดกับวิทยากรแบบติดขอบเวที, hands-on lab ที่เราสามารถเข้าไปนั่งทำ lab และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด, interactive learning เป็นการเรียนรู้แบบกลุ่มในลักษณะ workshop (ใช้เวลา 2 ชั่วโมง) และ bootcamp ทั้งแบบครี่งวัน และเต็มวัน

keynote session สรุปเรื่องสำคัญของวันนั้นๆ มีลูกเล่นเป็นจอแสดงผลบนกล่องลูกบาศก์ 4 กล่อง ที่หมุนได้

panel session รองรับคนประมาณ 20 คน ให้ผู้เข้าร่วมได้ใกล้ชิดกับวิทยากร

interactive learning session ที่มีการแบ่งกลุ่มและให้ทำกิจกรรมร่วมกัน

hands-on lab ที่เราสามารถเข้าไปนั่งทำ lab เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้

office hours เป็นพื้นที่สำหรับนัดคุยกับคน Google แบบ 1 ต่อ 1 สำหรับคนที่ต้องการถามคำถามเจาะลึกแบบส่วนตัว

เรียกได้ว่า ในงานมีรูปแบบของ session ที่หลากหลาย และมี session ให้เข้าเยอะมาก จนเราไม่สามารถจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้ในทุก session, ข่าวดีก็คือ เราสามารถเข้าไปดูเนื้อหาย้อนหลังได้ใน playlist นี้ และสรุปประกาศหลักๆ ของงาน ทาง Google ก็รวบรวมไว้ให้แล้วใน blog ของ Google ครับ

ในบทความนี้ ผมจะไม่ได้พูดถึงเรื่องเทคโนโลยีนะครับ แต่จะมาเล่าบรรยากาศให้ฟัง ว่าในงานมีอะไรน่าสนใจบ้าง

สื่อประชาสัมพันธ์

งานนี้ Google ทำสื่อประชาสัมพันธ์แบบจัดเต็มมาก ทั้งสกรีนขนาดใหญ่บนตัวตึกที่จัดงาน ธงบนเสาตามถนน ป้ายโฆษณาริมถนน และโฆษณาลงหน้าหนังสือพิมพ์ด้วย เรียกได้ว่า คนที่อยู่ในเมือง แม้จะไม่ได้มาร่วมงานนี้ ก็ต้องรับรู้ ว่ามีการจัดงานนี้ขึ้น (จริงๆ ยังมีโฆษณาบน billboard ริมถนนทางหลวงด้วย แต่ไม่ได้ถ่ายรูปเก็บไว้)







พื้นที่จัดงาน

ด้วยความที่งานนี้มี session ที่หลากหลาย และเยอะมาก ตัวงานเองรองรับผู้เข้าร่วมในหลัก 25,000 คน (วันสุดท้ายของงานมีการปิดสนามเบสบอลเพื่อจัดปารตี้และคอนเสิร์ตสำหรับผู้ร่วมงาน) การรองรับคนจำนวนมากจึงต้องมีการกระจายตัวของพื้นที่จัดงานไปอยู่ตามตึกต่างๆ ซึ่งอาคารหลักจะมีอยู่ 2 ตึกคือ Moscone West และ Moscone South แต่นอกจากอาคารหลัก ยังมีการจัด session ในพื้นที่อื่นๆ ทั้งสวน Yerba Buena (เป็นสวนที่อยู่ตรงกลางระหว่างอาคารหลักทั้ง 2 แห่ง) ในโรงแรมที่อยู่ห่างออกไป 5 บล๊อค, มีโซนสอบ certification ในห้าง และยังมี session ที่ไปจัดในโรงหนังด้วย (นั่งหลับ เอ้ย! นั่งฟังกันสบายเลย)

บรรยากาศก่อนเริ่ม keynote วันแรก

ด้วยความที่พื้นที่จัดงานกินพื้นที่กว้าง และไม่ได้อยู่ในตึกเดียวกัน ตามหัวมุมถนนเราจะเห็นเจ้าหน้าที่ถือโมเดลแสดงที่จัดงาน เพื่อคอยบอกว่าจุดที่เราจะไปนั้น ต้องเดินไปทางไหน (ในรูปภาพด้านล่าง ตึกที่มีสีระบาย คือส่วนที่มีการจัดงาน) และการเปลี่ยน session นั้น เราต้องคอยเผื่อเวลาสำหรับการเดินเท้าเพื่อไปยัง session ถัดไปด้วย


การยืนยันตัวตน

ในงานนี้ มีของที่สำคัญ มากๆ ที่ผมเพิ่งมารู้หลังจากที่ทำหายไปแล้วรอบหนึ่ง นั่นก็คือป้ายห้อยคอประจำงาน ที่เป็นแผ่นป้ายพลาสติกธรรมดา มีชื่อเราพิมพ์ลงบนบัตรให้เราห้อยคอติดตัวไว้ ซึ่งจะแยกแยะได้ว่าเป็นผู้ร่วมงานในกลุ่มไหน (ที่ผมเห็นก็จะมีคน Google, Staff, Partner, Customer และ All Access) และเจ้าหน้าที่จะคอยดูป้ายห้อยคอของเราและกันไม่ให้เราเข้าพื้นที่ หรือ session ที่ไม่ได้จัดไว้ให้คนกลุ่มนั้นๆ

แต่นอกจากป้ายห้อยคอ จะไว้ใช้ให้เจ้าหน้าที่แยกกลุ่มคนด้วยสายตาแล้ว ในป้ายนี้จริงๆ แล้วมีข้อมูลของเรา ทั้งชื่อ นามสกุล อีเมล ชื่อบริษัท เป็น partner หรือลูกค้า และอาจจะมีข้อมูลอื่นๆ อีก ที่เราต้องกรอกตอนลงทะเบียนเข้าร่วมงาน

ข้อมูลเหล่านี้จะถูกอ่านจากเครื่องอ่านบัตร (น่าจะเป็น NFC) ที่เราจะต้องเอาป้ายไปแตะกับเครื่องอ่านบัตรเพื่อแสดงตัวตน ลักษณะการใช้งานการอ่านบัตรเพื่อยืนยันตัวตนนั้น มีทั้ง
  • ใช้แลกของที่ซุ้มรับของที่ระลึก
  • ใช้เชคชื่อก่อนเข้า session ว่าเราจองที่ไว้หรือไม่
  • บาง session ใช้เชคชื่อ ว่าเราเข้า session จริง
  • แตะบัตรที่จุดต่างๆ เพื่อรับข้อมูลเพิ่มทางอีเมล
  • แตะบัตรที่บูธเพื่อลงทะเบียนอีเมลที่บูธ
จะเห็นว่า ป้ายห้อยคอนี้ใช้ทำอะไรได้หลายอย่างมากๆ เนื่องจากมันใช้ยืนยันตัวตนว่าเราเป็นใคร ลงทะเบียนไว้หรือไม่ มีสิทธิ์เข้า session หรือเปล่า และที่สะดวก (สำหรับคนออกบูธ) คือ ไม่ต้องขอนามบัตรและมากรอกข้อมูลทีหลัง สามารถอ่านข้อมูลจากบัตรได้เลย

เจ้าหน้าที่กำลังเชคชื่อหลังจบ session ด้วยการสแกนบัตรห้อยคอ

บางบูธ เราสามาระแตะบัตรห้อยคอเพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติมทางอีเมลได้

ก่อนเวลาเริ่ม session คนที่จองที่ไว้จะได้เข้าห้องก่อน ส่วนคนที่ไม่ได้จองไว้ต้องต่อแถวรอหน้าห้องจนถึงเวลาเริ่ม session โดยเจ้าหน้าที่จะสแกนบัตรห้อยคอเพื่อตรวจสอบ

พันธมิตรในงาน

ส่วนของการออกบูธในงาน สิ่งที่ผมสังเกตุเห็นคือ ยักษ์ใหญ่ในวงารที่ปรึกษา มาออกบูธกันครบถ้วน โดยเป็นบูธขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ โดยมีทั้ง PWC, KPMG, Deloite, Accenture แสดงให้เห็นถึงทิศทางความเคลื่อนไหวของบริษัทที่ปรึกษาขนาดใหญ่ ที่ขอมีเอี่ยวในตลาดนี้กันอย่างครบถ้วน




นอกเหนือจากกลุ่มที่ปรึกษา เรายังได้เห็นบูธของ Cisco และ HP โดยไม่ได้มาพูดถึงเทคโนโลยีของค่ายตัวเองอย่างเดียว แต่มาเพื่อประชาสัมพันธ์ developer community ที่แต่ละค่ายกำลังผลักดัน แสดงว่าทิศทางของเทคโนโลยีกลุ่ม hardware เดิม จะพึ่งพิงกับความแข็งแกร่งของ developer community มากขึ้น

Cisco มาโปรโมท DevNet

HPE มาโปรโมท HPEDEV

Grab n' Go

ในงานมีโชว์เคสทางเทคโนโลยีที่น่าสนใจหลายอย่างมาก ทั้งเรื่อง IoT, AI, Security, Analytics แต่มีบูธหนึ่ง ที่เราจะได้สัมผัสกับเทคโนโลยีได้ในทางตรงเลย คือบูธ Grab n' Go ของ Google ซึ่งเป็น solution ที่ Google ทำเป็นตู้ให้ยืม Chromebook มีให้เลือกหลายรุ่น หลายยี่ห้อ รวมถึง Chromebook Pixel ด้วย โดย solution นี้ Google มีการใช้งานกับ office ของ Google ทั่วโลกอยู่แล้ว และได้นำมาให้ผู้ร่วมงานยืมใช้งาน Chromebook ได้ด้วย (ต้องคืนภายในวันที่ยืม)


 อีกส่วนที่คล้ายๆ กันแต่ไม่เกี่ยวข้องกันคือ ในงานจะมีตู้ยืม power bank ให้ด้วย เป็นตู้แบบ self service โดยตอนขอยืมจะให้เราเลือกหัว connector ที่ต้องการ (มี micro USB, USB-C และ iPhone) เมื่อใช้งานเสร็จก็มาหย่อนคืนที่ตู้ได้เลย


ติดตามต่อปีหน้า

สำหรับปีหน้า งาน Google Cloud Next '19 ได้กำหนดวันไว้แล้วเป็นวันที่ 9-11 เมษายน 2562 สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรอติดตามกันได้ครับ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเรียกใช้งาน Google Apps Script

ป้องกันอีเมลสวมรอย (Email spoofing) ด้วย SPF, DKIM และ DMARC

การเขียน Google Apps Script เพื่อใช้งาน Custom Function