บทบาทของ Data Engineer ในยุคที่ข้อมูลกลายเป็นของมีค่า

เนื่องจาก Google มีการรับรองผู้เชี่ยวชาญในสาขา Data Engineer วันนี้ผมเลยจะอธิบายให้เข้าใจกันแบบง่ายๆ ครับ ว่า Data Engineer ทำอะไร และมีบทบาทยังไงบ้าง

องค์กรต่างๆ มีการดำเนินกิจกรรมและธุรกรรมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะมีข้อมูลมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในกระดาษ หรือข้อมูลดิจิตอลก็ตาม แต่แนวโน้มของข้อมูลดิจิตอล มีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลายๆ ปัจจัย เช่น

  • ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (เช่น การใช้งานอินเทอร์เน็ตแพร่หลายมากขึ้น)
  • การจัดเก็บที่มีราคาถูกลง
  • มีการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ที่วัดค่าออกมาเป็นข้อมูลมากขึ้น (Internet of Things)
  • ความสะดวกในการจัดการข้อมูลดิจิตอลที่สะดวกกว่าข้อมูลในกระดาษ เช่นการนำมาคำนวณ หรือแสดงผลในรูปแบบต่างๆ

แผนภาพแสดงการประมาณข้อมูลที่มีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ
ภาพจาก: oreilly.com

การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ หากมีข้อมูลที่เหมาะสมมาสนับสนุน ก็น่าจะช่วยป้องกันการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ดี หรือแม้กระทั่งการค้นพบความสัมพันธ์ใหม่ๆ ของข้อมูลที่มีอยู่จากการวิเคราะห์ข้อมูล นำไปสู่แนวทางการตัดสินใจใหม่ๆ ได้ เปิดทางเลือกให้กับธุรกิจให้มีความหลากหลายทางกลยุทธ์

วัฒนธรรมองค์กรของ Google ที่คุยกันด้วยข้อมูล ไม่ใช่แค่ความเห็น
ภาพจาก: gsuite.google.co.uk

อ่านเพิ่มเติม บทความ Creating a Culture of Innovation: Eight ideas that work at Google หัวข้อ 7. Use data, not opinions
อ่านเพิ่มเติม บทความ The Eight Pillars of Innovation หัวข้อ Spark with imagination, fuel with data

การนำข้อมูลมาใช้ช่วยประกอบการตัดสินใจ สามารถนำมาใช้ได้หลายระดับ หลายรูปแบบ ตั้งแต่
  • ใช้หาคำตอบให้กับคำถามของผู้ใช้งานทางธุรกิจ (business user) ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาด หรือผู้บริหารระดับสูง เช่น ยอดขายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโตขึ้นร้อยละเท่าไร เมื่อเทียบกับสัปดาห์เดียวกันกับปีก่อน?
  • นำมาแสดงผลด้วยแผนภูมิ เพื่อให้มองเห็นสถานการณ์โดยรวมได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้ตัดสินใจได้ทันเวลา
  • นำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อค้นหาความหมายหรือความสัมพันธ์ที่ซ่อนอยู่ในมุมต่างๆ ที่ธุรกิจยังมองไม่เห็น และยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์
  • นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ สำหรับการสร้างเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ หรือแยกแยะข้อมูลด้วย machine learning
การแสดงผลข้อมูลในรูปแบบแผนภูมิต่างๆ ช่วยให้ผู้ใช้ทำความเข้าใจข้อมูลได้ง่ายขึ้น
ภาพจาก: in.pcmag.com

การตัดสินใจต่างๆ ในองค์กรอาจจะเกิดขึ้นโดยไม่มีการนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมด้วย ในที่ประชุมอาจจะมีประเด็นที่ต้องถกเถียงกัน หากไม่มีข้อมูลคอยสนับสนุน สุดท้ายการตัดสินใจมักจะขึ้นอยู่กับผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในห้องประชุม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ วิสัยทัศน์ และความแหลมคมของบุคคลนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด แต่คงจะดีกว่านี้หากเราสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจใดใดได้

"ถ้าไม่มีข้อมูลมาคุย ก็เอาตามความเห็นของผมละกัน" - James L. Barksdale -
ภาพจาก: azquotes.com

แล้วเหตุใดจึงไม่มีการนำข้อมูลมาประมวล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการตัดสินใจที่ดีขึ้น? ผมลองวิเคราะห์จากประสบการณ์ส่วนตัว (ไม่มีข้อมูลอ้างอิง) แยกแยะสาเหตุตามลำดับได้ด
  • ไม่มีการเก็บข้อมูล
  • มีข้อมูล แต่ผู้ใช้ไม่รู้ว่ามีข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
  • ผู้ใช้รู้ว่ามีข้อมูล แต่ไม่สามารถนำมาข้อมูลมาประมวลได้
  • นำข้อมูลมาประมวลได้ แต่กระบวนการใช้เวลานานเกินไปจนข้อสรุปที่ได้ไม่มีประโยชน์ หรือไม่ทันเวลา
  • ขาดทักษะในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เช่น หาความสัมพันธ์ต่างๆ หรือนำมาแสดงผลเป็นแผนภูมิ
ตรงนี้ก็จะเป็นส่วนที่ Data Engineer จะเข้ามามีบทบาทในองค์กรนั้นๆ ถ้าหากว่าองค์กรมีแนวทางที่ต้องการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจทางธุรกิจ (แสดงผลข้อมูลเป็นแผนภูมิ, วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของข้อมูล, สร้าง machine learning model) แต่ยังไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ออกมาใช้งานได้ Data Engineer ก็จะเข้ามาช่วยทำให้ความต้องการนั้นเป็นจริงและเกิดประโยชน์ตามวิสัยทัศน์ขององค์กรนั้นๆ ครับ

หากองค์กรของคุณ อยากจะนำข้อมูลที่มีอยู่มาทำประโยชน์ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง สามารถติดต่อมาได้ที่อีเมล google@tangerine.co.th ครับ

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเรียกใช้งาน Google Apps Script

ป้องกันอีเมลสวมรอย (Email spoofing) ด้วย SPF, DKIM และ DMARC

การเขียน Google Apps Script เพื่อใช้งาน Custom Function